การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงวาตภัย

การบริหารจัดการของโรงเรียน

การเตรียมความพร้อมด้านอาคารในพื้นที่เสี่ยงวาตภัย

วาตภัยหมายถึงภัยที่เกิดจากพายุลมแรง อาจจะเป็นภัยพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงธันวาคม และพายุฝนฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน  (Thunder Storm) ที่เกิดขึ้นจากการปะทะของอากาศร้อนอบอ้าวในพื้นที่กับกระแสอากาศเย็นที่เคลื่อนตัวลงมาจากประเทศจีน   วาตภัยอาจจะนำมาซึ่งภัยต่อเนื่องหลายประเภท เช่น อากาศปั่นป่วน ลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ฝนตกหนัก ซึ่งภัยเหล่านี้สามารถทำความเสียหายแก่โครงสร้างอาคารสถานศึกษาได้ ซึ่งสาเหตุของความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบอาคารที่ไม่ได้คำนึงถึงการต้านแรงลม ส่วนประกอบอาคารมีอายุการใช้งานมานาน การติตตั้งส่วนประกอบอาคาร เช่น หลังคาไม่ได้มาตรฐาน แม้ว่าความรุนแรงของวาตภัยในหลายพื้นที่จะแตกต่างกันหลายระดับ ขึ้นอยู่กับทิศทางของลม ความเร็วลมในช่วงฤดูกาลต่าง สภาพภูมิประเทศที่สถานศึกษาตั้งอยู่ (เช่น เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล กลางทุ่ง หรือในเมืองมีอาคาร ต้นไม้ ล้อมรอบ เป็นต้น) นอกจากนี้รูปทรงอาคาร การจัดวางอาคาร พื้นที่ของผนัง จำนวนหน้าต่าง ก็มีผลต่อการรับแรงลมด้วยเช่นกัน การสำรวจประเมินอย่างละเอียดจึงต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรมและการวางผังพื้นที่  อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายจากวาตภัยเป็นประจำควรมีการปรับปรุงด้วยการออกแบบและก่อสร้างอาคารในลักษณะที่ช่วยให้ต้านทานแรงลมได้มากขึ้น เพื่อให้อาคารเรียนนั้นมีความปลอดภัย แม้ในกรณีที่มีพายุรุนแรงเข้ามาปะทะอาคาร และเพื่อให้อาคารสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ในสภาพลมแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ในช่วงอายุการใช้งานของอาคารนั้นๆ

การสำรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงวาตภัยและภัยต่อเนื่องอื่นๆ สามารถพิจารณาประเด็นดังนี้ 

  • โครงสร้างหลังคาและวัสดุหลังคาสามารถรับแรงปะทะของพายุและมีการติดตั้งอย่างแน่นหนาหรือไม่
  • มีการเสริมความแข็งแรงของประตู หน้าต่าง และมีการป้องกันกระจกแตกจากแรงลมหรือไม่
  • สภาพแวดล้อมมีเสาสูง  เสาวิทยุ  ป้ายโฆษณาสูง หรือต้นไม้ใหญ่ที่ที่อาจจะโค่นล้มได้หรือไม่
  • มีการยึดอุปกรณ์เครื่องใช้ให้แน่นหนาเพื่อป้องกันการตกหล่นหรือไม่  (เช่น พัดลมเพดาน ตู้สูง ชั้นวางของ เครื่องปรับอากาศ ป้ายต่าง ๆ กระถาง)
  • จำเป็นต้องมีการติดตั้งสายล่อฟ้า ระบบตัดไฟ และระบบป้องกันฟ้าผ่าหรือไม่