การเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย

การเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม

น้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) หมายถึง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน

ดินโคลนถล่ม (Debris Flow) หมายถึง เหตุการณ์ที่ดินถล่มลงมารวมกับเศษซากมวลพิบัติ โดยมีน้ำในปริมาณมาก แล้วไหลลงสู่ที่ต่ำด้วยความเร็วสูงและมีพลังในการพัดพาต้นไม้และหินกรวดทรายตามลงมาด้วย

ในรายงานนี้จัดให้มาอยู่ในหัวข้อเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองจัดเป็นภัยพิบัติที่มักเกิดขึ้นร่วมกัน โดยมีปัจจัยกระตุ้นหลักมาจากฝนตกหนักมากกว่าปกติ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมักเป็นบริเวณพื้นที่การไหลของทางน้ำ เกิดขึ้นได้ทั้งในพื้นที่ที่มีความลาดชันหรือที่ราบลุ่ม สำหรับดินโคลนถล่ม จัดเป็นหนึ่งในประเภทของดินถล่มในลักษณะแบบไหล (Flows) ซึ่งมักพบในวัสดุที่ไม่มีการยุบอัดตัว เช่น ก้อนหิน กรวด ทราย และเม็ดดิน โดยจะไหลลงตามแนวลาดเอียงของเชิงเขาเป็นผิวขนานกับผิวหน้าของลาดที่มีความชื้นสูงโดยมีอัตราการเคลื่อนตัว 0.3 m/min ถึงมากกว่า 3 m/min รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับดินถล่ม (Landslide) จะกล่าวในหัวข้อถัดไป

 

ตัวอย่างผลกระทบของน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม

  • ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ปี พ.ศ. 2542

เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2542  โดยฝนเริ่มตกหนักเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอมะขาม และอำเภอเมืองจันทบุรี เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องประมาณ 20 วัน มีปริมาณน้ำฝนสะสม 900 มิลลิเมตร และฝนตกหนักมากตั้งแต่วันที่ 29-30 กรกฎาคม 2542 วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 430 มิลลิเมตร (กรมทรัพยากรธรณี 2549) ระดับแม่น้ำในจังหวัดจันทบุรียังคงปกติแต่สีน้ำเริ่มขุ่นแดง ประชาชนในพื้นที่กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ เริ่มมีความกังวลและมีการอพยพชุดแรก ราว 300 ครอบครัว ประชากร 800 คน จนกระทั่งเวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 น้ำป่าได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ และไหลเข้าท่วมตัวจังหวัดจันทบุรี เมื่อเวลา 18.00 นาฬิกา ของวันเดียวกัน สามารถแสดงลักษณะการพิบัติของเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มในพื้นที่เขาคิชฌกูฏ